กร่างด่างเหลือง (Ficus Altissima ‘Yellow Gem’) ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน ต่อมาได้แพร่กระจายไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบันคนไทยนิยมนำมาปลูกประดับเป็นไม้กระถางไว้ภายในบ้านกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีใบที่สวยงาม ช่วยเพิ่มสีสันให้กับสวนภายในบ้านได้เป็นอย่างดี
กร่างด่างเหลือง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สามารถสูงได้ถึง 10 – 30 เมตร ลำต้นตั้งตรง มีสีน้ำตาล แข็งแรง แตกกิ่งก้านหนาทึบ ซึ่งลำต้นและกิ่งจะมีรากอากาศห้อยย้อยลงมา มีใบดกเป็นทรงพุ่ม ใบเป็นสีเขียวและมีลายด่างเหลืองสวยงาม มีความเงามัน ลักษณะคล้ายกับต้นยางอินเดีย แต่ใบจะไม่หนามากเหมือนกับยางอินเดีย
ผลของต้นกร่างด่างเหลืองมีขนาดเล็กเป็นทรงกลม มีสีเขียว เมื่อสุกแล้วผลจะกลายเป็นสีส้มไปจนถึงสีแดง โดยในแต่ละลูกจะมีกลีบเลี้ยงอยู่ประมาณ 3 – 4 กลีบ ซึ่งนกและค้างคาวมักจะมากินลูกของต้นกร่าง และเมื่อถ่ายอุจจาระออกมาเป็นเมล็ดลงสู่ดินก็จะทำให้เกิดเป็นต้นใหม่
ในประเทศอินเดียมีการนำใบกร่างไปรับประทานเป็นอาหาร ซึ่งต้นกร่างก็จัดเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยา โดยใบและเปลือกช่วยแก้โรคท้องร่วงบิด ส่วนรากนำมาเคี้ยวเพื่อช่วยแก้อาการเหงือกบวม ยางของกร่างช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ใช้กำจัดหูดหรือใช้บรรเทาอาการโรคข้ออักเสบ ผลสุกสามารถใช้เป็นยาระบาย นอกจากนี้ยังสามารถนำเมล็ดไปทำเป็นยาเย็นเพื่อบำรุงร่างกายได้อีกด้วย
ต้นกร่างด่างเหลืองเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่ต้องมีความชื้นพอสมควร ถือเป็นพืชที่ทนต่อสภาพอากาศต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี สามารถปลูกไว้ในบริเวณกลางแจ้งได้ ควรรดน้ำสัปดาห์ละครั้ง หรือ 3 วัน/ครั้ง ส่วนการขยายพันธุ์สามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ
ขอบคุณแหล่งที่มาของวิดีโอ เกษตร ใต้ฟ้าเดียวกัน