พริกแดงจินดา สมุนไพรคู่ครัวไทย
พริกแดงจินดา หรือ Chili, Pepper ซึ่งในประเทศไทยมันถูกจัดว่าเป็น พริกขี้หนูผลใหญ่ เนื่องจากมีความเผ็ดรองลงมาจากพริกขี้หนู แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า ลักษณะมีขนาดเล็ก เรียวยาว ผลชี้ขึ้นเป็นส่วนมาก ผลดิบมีสีเขียวแก่ เมื่อสุกจะมีสีแดงเข้ม มีเมล็ดมาก ทนทานต่อโรค เจริญเติบโตดี และสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
ทรงพุ่มกว้าง ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร มีรากแก้ว เมื่อโตเต็มที่ รากฝอยจะหยั่งลึกลงไปในดินเกินกว่า 1.20 เมตร เมล็ดมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีรูปร่างกลมแบน ผิวเรียบ มีสีเหลือง มีรสชาติเผ็ด และ แสบร้อน ซึ่งความเผ็ดของพริกเกิดจากสาร Capsaicin ที่มีอยู่มากในบริเวณแกนกลางของพริก แต่ไม่มีอยู่ในเนื้อและเปลือกพริก
นอกจากพริกแดงจินดา จะนิยมนำมาประกอบอาหารเพื่อชูรสชาติให้อาหารอร่อยขึ้น ในอดีตยังนิยมนำมารักษาโรคต่าง ๆ เพราะสรรพคุณทางยาของพริกมีมากมาย ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
- มีสารตั้งต้นของวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา
- ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง ขับเสมหะ เพราะแคปไซซินช่วยทำให้เสมหะจางลง
- มีวิตามินซีสูง ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- แคปไซซินช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ทำให้อารมณ์ดี
- ช่วยให้หลอดลมขยายตัวได้ดีขึ้น ไม่หดเกร็ง เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด
- ส่งเสริมการสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดีจากแคปไซซินที่อยู่ในพริก
- มีแคโรทีนอยด์ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
- ลดความดัน และลดการอุดตันของหลอดเลือด ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- ช่วยในการเผาผลาญ ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก
- บรรเทาอาการปวด
อย่างไรก็ตามแม้พริกแดงจินดา จะมีประโยชน์มากมาย แต่หากบริโภคมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดโทษได้เช่นกัน เพราะนอกจากจะรู้สึกแสบร้อนบริเวณที่สัมผัสแล้ว อาจทำให้เกิดการแสบร้อนภายในบริเวณกะเพาะได้อีกด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ ซึ่งไม่ควรรับประทานพริก เพราะกรดอาจจะไปกัดแผลในกระเพาะได้ ดังนั้นแล้วหากจะบริโภคก็ควรบริโภคแต่พอดีจะดีกว่า